นักบุญฮูนิเปโร เซอร์ร่า

ฮูนิเปโร เซอร์ร่า และเขตมิสซังแห่งแคลิฟอร์เนีย


เป็นเวลากว่าห้าสิบปีที่เขตมิสซังต่างๆ เป็นกำลังสำคัญในการนำความเจริญละชีวิตสังคมมาสู่ชนพื้นเมืองอินเดียนแดง และเป็นธงชัยสำคัญของการก่อตั้งอาณานิคมของชาวสเปน

เขตมิสซังเหล่านี้แผ่ขยายจากซาน ดิเอโกและกว้างไกลเลย ซาน ฟรานซิสโก ในปัจจุบันเมืองต่างๆ ในแคลิฟอร์เนียตั้งชื่อตามเขตมิสซังเหล่านั้น เปรียบเสมือนเพชรพลอยประดับเรียงรายรอบ เอล คามิโน รีอัล “เส้นทางกษัตริย์” อันเป็นเส้นการเดินทางใหญ่ที่เชื่อมเมืองต่างๆ เข้าด้วยกัน ผู้ก่อสร้างเส้นทางนี้คือองค์บุญราศี ฮูนิเปโร เซอร์ร่า ท่านเป็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่และมีผลงานมากมาย ชื่อของท่านถูกจารึกเคียงคู่กับเขตมิสซังต่างๆ ที่ทำให้แคลิฟอร์เนียมีเสน่ห์ดึงดูดใจเสมอ ตลอดจนเรื่องราวต่างๆ ที่ได้รับการเล่าขานกันต่อๆ มา

ตามความจริงแล้วท่านก่อตั้งเขตมิสซังเพียงหกแห่ง และตลอดชั่วชีวิตของท่านก็มีเขตมิสซังเพียงเก้าแห่งที่ก่อตั้งจนสำเร็จ แต่เขตมิสซังเหล่านี้เป็นความคิดของท่าน และเขาฝังท่านไว้ที่เขตมิสซังคาร์แมล อันเป็นเขตมิสซังที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งและเป็นสถานที่ที่ท่านได้ใช้เป็นจุดศูนย์กลาง เมื่อท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานของเขตมิสซังแห่งแคลิฟอร์เนียในปี ค.ศ. 1769 ท่านก็ได้เริ่มย่างเข้าสู่วัยชราแล้ว และท่านเสียชีวิตอีกสิบห้าปีต่อมาในปี ค.ศ. 1784

แคลิฟอร์เนียถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1542 โดยนักเดินเรือชาวโปรตุเกสในราชการของกษัตริย์แห่งสเปน แต่เขตมิสซังต่างๆ ก็ได้รับการก่อตั้งตามเส้นทาง เอล คามิโน รีอัล หลังจากนั้นกว่าสองร้อยปี ในระหว่างนั้นเส้นทางนี้ก็ไม่ได้รับการดูแลจากชาวสเปนผู้ซึ่งเป็นเจ้าของ แต่ในปี ค.ศ. 1768 ทางราชสำนักสเปนก็ได้รับข่าวว่า เรือรัสเซียได้เข้าจอดเทียบท่าในบริเวณที่ต่อมาจะเรียกว่าอ่าวซาน ฟรานซิสโก กษัตริย์คาร์ลอสที่สามแห่งสเปน ก็ได้มีบัญชาให้ก่อตั้งอาณานิคมและเผยแพร่ศาสนาที่อัลตา แคลิฟอร์เนียอันเป็นชื่อในสมัยนั้น พร้อมทั้งแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการ และขอให้คณะนักบวช ฟรังซิสกันที่นครเม็กซิโกแต่งตั้งประธานสำหรับการก่อตั้งเขตมิสซัง บุคคลที่ได้รับเลือกคือ
คุณพ่อฮูนิเปโร เซอร์ร่า จากเกาะมาบอร์คา และเป็นอดีตอาจารย์วิชาปรัชญาที่ได้ละทิ้งงานสอน เพื่ออุทิศตนเองสำหรับงานมิสซังของสเปนใหม่

เราทราบถึงเรื่องราวการเดินทางของคุณพ่อเซอร์ร่าในแคลิฟอร์เนียจากบันทึกประจำวันของท่าน และเราทราบด้วยว่าท่านมีปัญหากี่ยวกับเท้าของท่าน อันมีสาเหตุจากแผลงูกัดที่ท่านได้รับระหว่างการเดินเท้าจากเวราครูซมายังนครเม็กซิโก เมื่อท่านเดินทางมาถึงเม็กซิโกใหม่ๆ ปัญหานี้ทำให้การเดินทางของท่านเจ็บปวดและยากลำบากมาก เขตมิสซังสองแห่งแรกก่อตั้ง ณ บริเวณที่ค้นพบโดยชาวสเปนก่อนหน้านี้ กล่าวคือซาน ดิเอโก และมอนเทอร์เรย์ทางทิศเหนือและใต้ตามลำดับ เขตมิสซังทางใต้ได้รับการตั้งชื่อว่า ซาน ดิเอโก เดอ อัลคาลา ส่วนเขตมิสซังทางเหนือมีชื่อว่า ซาน คาร์ลอส บอโรมิโอ ทั้งสองแห่งยังตั้งอยู่ตราบจนทุกวันนี้ เนื่องจากเขตมิสซังมอนเทอร์เรย์ก่อตั้งภายในที่ตั้งกองทหาร คุณพ่อเซอร์ร่าจึงเห็นว่า ไม่สมควรที่ตั้งศูนย์กลางมิสซังขึ้นที่นี่ และท่านได้เลือกที่จะก่อตั้งที่คาร์แมลซึ่งอยู่ห่างออกไปหลายไมล์ และกำลังก่อสร้างวัดสำหรับเขตมิสซัง จากเขตมิสซังที่คาร์แมลนี้เองที่ท่านคอยดูแลงานก่อตั้งเขตมิสซังต่างๆ ทั้งหมด ท่านได้เสียชีวิตและถูกฝังไว้ ณ ที่นี้

ในปี ค.ศ. 1771 ซาน อันโตนิโอ เดอ ปาดัว ก็ได้รับการก่อตั้งขึ้นทางทิศใต้ของมอนเทอร์เรย์ และในปีเดียวกันนั้นเองซาน กาเบรียล อาร์คเองเจิลก็ได้รับการก่อตั้งขึ้นใกล้ๆ กับลอส เองเจลลิส ในปี ค.ศ. 1773 ซาน ลูอิส โอบิสโปก็ได้รับการก่อตั้ง และในปี ค.ศ. 1776 เขตมิสซังที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ชื่นชมมากที่สุดสองแห่งก็ได้รับการก่อตั้งขึ้น กล่าวคือซาน ฮวน คาปิสตราโนใกล้ๆ กับซาน ดิเอโก และมิสซิโอน โดโลเรสซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของนครซาน ฟรานซิสโก

เมื่อคุณพ่อเซอร์ร่าเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1784 เขตมิสซังเก้าแห่งก็ได้รับการก่อตั้งตามชายฝั่งแคลิฟอร์เนีย โดยท่านเป็นผู้ก่อตั้งเองหกแห่ง หลังจากที่ท่านเสียชีวิตการขยายมิสซังก็ยังคงดำเนินต่อไป และเมื่อปี ค.ศ. 1823 เขตมิสซังยี่สิบเอ็ดแห่งก็ได้รับการก่อตั้งข้างเส้นทางเอล คามิโน รีอัล แต่ละแห่งจะอยู่ห่างกันชั่วการเดินทางหนึ่งวัน มิสซังเหล่านี้เป็นแบบอย่างสถาปัตยกรรมที่งดงาม เป็นบ้านและที่พักพิงสำหรับชาวอินเดียนแดง และเป็นจุดศูนย์กลางของกิจกรรมต่างๆ ทางศาสนา การศึกษา และเกษตรกรรมมากมาย

เป็นเวลากว่าห้าสิบปีที่เขตมิสซังต่างๆ เป็นกำลังสำคัญในการนำความเจริญและชีวิตสังคมมาสู่ชนพื้นเมืองอินเดียนแดง และเป็นธงชัยสำคัญของการก่อตั้งอาณาจักรนิคมของชาวสเปน แต่สิ่งที่หยุดยั้งงานแพร่ธรรมและเผยแผ่การศึกษาคือสงครามประกาศเอกราชของเม็กซิโกในปี ค.ศ. 1821 สงครามนี้ทำให้เม็กซิโกแยกออกจากสเปน ส่วนแคลิฟอร์เนียก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของสาธารณรัฐเม็กซิโกใหม่

เขตมิสซังต่างๆ เหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนที่ก่อตั้งโดยกษัตริย์แห่งสเปน และได้รับบริจาคอย่างมากมาย สม่ำ

สมอ หลังจากที่เขตมิสซังได้รับการก่อตั้งขึ้นแล้ว ส่วนใหญ่ก็สามารถจะช่วยเหลือตนเองได้ และเมื่อเกิดการขาดแคลนเงินจากกองทุนก็จะถูกนำมาช่วยเหลือ ในปี ค.ศ. 1842 ประธานาธิบดีซานตาแอนนา ที่นำกองทัพเม็กซิโกสู้รบกับวีรบุรุษแห่งป้อมอลาโม ก็ได้สั่งยึดเงินกองทุนและให้เขตมิสซังต่างๆ อยู่ในการดูแลของฆราวาส เพียงไม่กี่ปีต่อมา กิจการงานของคุณพ่อเซอร์ร่าและเพื่อนคณะนักบวชฟรังซิสกันก็ถูกทำลายลง เขตมิสซังต่างๆ ถูกปล้นสะดมและละทิ้ง ทศวรรษที่ยิ่งใหญ่ก็มาถึงจุดจบ

ในสมัยที่เขตมิสซังแห่งแคลิฟอร์เนียยังคงรุ่งเรืองอยู่ เขตมิสซังเหล่านี้ก็เป็นจุดศูนย์กลางของชนพื้นเมืองอินเดียนแดงที่อาศัยอยู่รอบๆ เขตมิสซัง เป็นจุดศูนย์กลางสำหรับบรรดาทหารชาว สเปนและครอบครัวที่สนับสนุนช่วยเหลืองานของบรรดานักบวช และเป็นจุดรวมของนักบวชฟรังซิสกันที่คอยชี้ทางและดูแลเขตมิสซัง ทุกๆ วันแต่เช้าตรู่ก็จะมีการย่ำระฆังพรหมถือสารประกาศเวลามิสซาเช้า หลังจากนั้นก็เป็นการเลี้ยงอาหารเช้า ต่อจากนั้นก็จะเป็นการทำงานในทุ่งนาหรือโรงช่างไม้ จนกระทั่งถึงเวลาเที่ยง และทุกคนก็จะได้รับอาหารกลางวัน หลังจากการพักผ่อนช่วงสั้นๆ ในตอนบ่ายก็จะทำงานกันต่อไปจนถึงเวลาอาหารเย็น บรรดาชนพื้นเมืองก็จะได้รับการสอนคำสอนเพื่อเตรียมตัวกลับใจเป็นคริสตังใหม่ และในตอนเย็นก็จะมีดนตรีและการเต้นรำ

เขตมิสซังแต่ละแห่งปลูกพืชผลสำหรับตนเอง มีฝูงปศุสัตว์และดูแลคนชราและผู้เจ็บไข้ได้ป่วย หัวใจของมิสซังจะอยู่ที่ลานสี่เหลี่ยมผืนผ้า ณ ที่นี้เองจะมีการประชุมต่างๆ เป็นสถานที่ที่เยาวชนจะได้รับการสอนงานช่างไม้ งานช่างเงิน การทำรองเท้าหรือหัตถกรรมอื่นๆ และเป็นสถานที่ที่ผู้นำของครอบครัวจะได้รับการสอนการทำกสิกรรม และบรรดาสตรีได้รับการสอนให้ปั่นด้ายและทอผ้า วัดจะเป็นจุดศูนย์กลางของชีวิตกลุ่มคริสตชน และวันสมโภชต่างๆ ก็จะได้รับการเฉลิมฉลองอย่างสง่างาม

งานก่อตั้งเขตมิสซังในแคลิฟอร์เนียก็ต้องพ่ายแพ้ต่อความมักได้ทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เหมือนกับงานก่อตั้งเขตมิสซังของคณะนักบวชเยสุอิตในอเมริกาใต้ ซึ่งเราได้เห็นประวัติที่น่าเศร้าจากภาพยนตร์ใน ค.ศ. 1986 ชื่อ “เดอะมิชชั่น” ผลงานที่ยิ่งใหญ่ในแคลิฟอร์เนียก็ถูกทำลายด้วยความโลภ และผู้มีอำนาจที่เล็งเห็นประโยชน์ในระยะสั้นๆ ดังเช่น งานแพร่ธรรมของคณะนักบวชเยสุอิต งานก่อตั้งเขตมิสซังของคณะนักบวชฟรังซิสกันในแคลิฟอร์เนีย ก็เป็นผลงานที่เกิดจากการอุทิศตนด้วยความรักเยี่ยงคริสตชน ต่อชนพื้นเมืองที่ไม่มีโอกาสได้รับพระพรให้รู้จักความเชื่อ คริสตชน หรือไม่มีโอกาสก้าวหน้าทางการศึกษาและวัฒนธรรม เขตมิสซังต่างๆ เป็นที่พักพิงซึ่งเต็มไปด้วยสันติสุข และความเจริญมั่งคั่งสำหรับครอบครัวชนพื้นเมืองอินเดียนแดงนับเป็นจำนวนพันซึ่งมาอาศัยพักพิง เมื่อเขตมิสซังต่างๆ สูญสลายไป ผู้คนที่ต้องกระจัดกระจายไป ก็เหลือเพียงแต่ความทรงจำถึงนักบวชที่สุภาพและใจดี

แต่ความฝันของคุณพ่อเซอร์ร่าก็ไม่ได้สูญหายไปทั้งหมด ในปี ค.ศ. 1781 ลอสเองเจลลิส ก็ได้รับการก่อตั้งใกล้ๆ กับเขตมิสซังซาน กาเบรียล และในไม่ช้าก็มีการก่อตั้งเมืองต่างๆ ณ บริเวณที่เคยเป็นเขตมิสซัง เช่น ซาน ดิเอโก, ซานตา บาบาร่า, ซาน ลูอิส โอบิสโป, ซาน โฮเซ่, ซานตา คลาร่า, มอนเทอร์เรย์, ซาน ราฟาเอล, ซานตา ครูซ และซาน ฟรานซิสโก ลูกประคำของสายประคำของคุณพ่อเซอร์ร่าหรือเขตมิสซังต่างๆ ได้กลายเป็นรากฐานสำหรับแคลิฟอร์เนียในเวลาต่อมา ซึ่งเชื่อมโยงโดยเอล คามิโน รีอัล อันเป็นเส้นการเดินทางที่เชื่อมเขตมิสซังต่างๆ เข้าด้วยกัน มิสซังต่างๆ เหล่านี้ยังคงอยู่ และเป็นประจักษ์พยานถึงความเชื่อและการอุทิศตนของนักบวชกลุ่มเล็กๆ ที่ได้หว่านเมล็ดพืชพันธุ์แห่งความเชื่อยังบริเวณที่ไม่เคยมีมาก่อน

 

Upload 29 June 2008

Go Top
Back to SaintSerra Page